0

ได้เวลาออกผจญภัย…กับ All New Honda CT 125 PGM-FI

Leisure Bike ที่เปี่ยมไปด้วยสมรรถนะ…แล้วคุณจะค้นพบรถระดับตำนานที่เป็นตัวจริงเสียงจริงในโลกการขับขี่ของเรโทรสไตล์

กระแสความนิยมในตัวของรถจักรยานยนต์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัย มีความเร็วแรง เต็มเปี่ยมไปด้วยสมรรถนะและพละกำลังซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากรุ่นหลายโมเดล บางครั้งอาจทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสนหรือตามไม่ทันเพราะ ซีรีย์ต่าง ๆ นั้นถูกปล่อยต่อกันออกมาในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งหลายรุ่นยังมีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกัน จนบางครั้งยังไม่ทันตัดสินใจจับจองเป็นเจ้าของ (หรือกว่าจะเก็บเงินได้) ก็เล่นเอาตกรุ่นไปเสียก่อนแล้ว นี่ทำให้หลายท่านเปลี่ยนเป้าความสนใจหันมาเมียงมองรถจักรยานยนต์ที่มีดีไซน์เฉพาะตัวแบบย้อนยุค ขับขี่ใช้งานง่าย มีประวัติที่อ้างอิงจากตำนานความเป็นมา ตลอดจนมีความสวยงามตามสไตล์เรโทร ที่จับมาขี่เมื่อไหร่ก็รู้สึกเท่ห์ บิดไปเรื่อย ๆ ชิลล์ ๆร่วมกับกลุ่มก๊วนและผองเพื่อน สนุกกับการออกไปหาเส้นทางใหม่ ๆ เพราะบางครั้งความสุขของการใช้งานสองล้อไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วย กิโลเมตร/ชั่วโมง เสมอไป…

ฮอนด้า ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์รถจักรยานยนต์ชั้นนำที่มีทั้งชื่อชั้นและผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้ทั่วโลกให้การยอมรับ จนหลายโมเดลของค่ายนี้กลายมาเป็นตำนานของความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นที่ผู้ใช้ให้ความไว้วางใจและไม่เคยหนีหายไปจากโลกยานยนต์ รวมไปถึงรถจักรยานยนต์เรโทรรหัสเด่น ๆ หลายรุ่นในอดีตที่ถูกนำมาพัฒนาและปรับลุคใหม่ให้โดนใจผู้ใช้ที่หลงใหลและชื่นชอบ โดยเฉพาะรถเล็กที่ขี่ง่าย ใช้คล่อง เท่ห์และมีเสน่ห์ในตัวเองจนกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในตลาดบ้านเรา ซึ่ง Honda Monkey 125 กับ New Super Cup สามารถยืนยันความนิยมตรงจุดนี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ในวันนี้ถึงคิวของรถรหัสดังที่มีความร้อนแรงในโลกโซเชียลอย่าง Honda CT 125 Trail ซึ่งถือกำเนิดอีกครั้งจากต้นแบบยุค 60s ที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงเพิ่มเติมจากอดีตสู่ยุคสมัย การเปิดตัวแบบออนไลน์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนั้นทำให้ทราบกันแล้วว่า ที่มาของ CT125 Trail นั้นเป็นมาอย่างไร แต่มันจะมีสมรรถนะตรงตามความต้องการมากแค่ไหน? มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง? และสามารถใช้งานเป็นจริงอย่างที่เคลมมาหรือไม่? ครั้งนี้เราจะได้ทราบกันครับว่า รถเล็กน่ารักนั้นจะมีสมรรถนะสูงได้จริงมั้ยเพราะเราจะนำ All New Honda CT 125 PGM-FI ไปทดสอบแบบออกนอกกรอบกันอย่างเต็มข้อ…

แต่ก่อนจะไปออกนอกเส้นทาง ขอย้อนกลับไปพูดถึงรุ่นที่ผ่านมาก่อนหน้านี้สักเล็กน้อยเพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เรียกว่าเป็นรุ่นแรกที่ถูกผลิตและส่งไปขายในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ แคนนาดา หรือแม้แต่ในออสเตรเลีย (1960) Honda CT เริ่มจากขนาดความจุกระบอกสูบ 50 ซีซี ด้วย Trail 50,Trail 55,Trail 70,Trail 90 ซึ่งเป็นรุ่นที่ผลิตขายจากปี 60s และสิ้นสุดในยุค 70s ตามลำดับ ต่อมาด้วยกระแสความนิยมและความต้องการของผู้ใช้ Honda จึงตัดสินใจนำรถในตระกูล CT กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบของ CT 110 ที่ทุกอย่างยังเหมือนกับรุ่น CT 90 แม้กระทั่งรูปลักษณ์ เพียงแต่ขยายกระบอกสูบให้เป็น 105 ซีซี  โดยสิ่งที่ CT 110 แตกต่างได้แก่ความจุกระบอกสูบ,ขนาดของเครื่องยนต์เล็กกว่า,ใช้คาร์บูเรเตอร์,สตาร์ทเท้า,ระยะความยาวฐานล้อสั้นกว่าเล็กน้อย,ระบบไฟจุดระเบิดและไฟส่องสว่างใหม่,เฟรมบางกว่า,ระบบกันสะเทือนรองรับน้ำหนักได้น้อยกว่า,สวิงอาร์มปั๊มขึ้นรูป,เบรกก้ามปู,เสื้อสูบเหล็กรุ่นใหม่เป็นเสื้อสูบอลูมิเนียม ส่วน CT 125 ตัวนี้เป็นรถใหม่แบบ All-new ที่ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI และถูกพัฒนารายละเอียดมาใหม่ทั้งหมด ความร่วมสมัยจะให้ฟิลลิ่งแบบย้อนยุคและสมรรถนะได้ครบรสแค่ไหน ตามไปชมกันเลยครับ!

ทดสอบสมรรถนะและสัมผัสความประทับใจ

เราตั้งหัวข้อของการทดสอบเอาไว้หลายจุด อาทิ ความแข็งแรงของโครงสร้าง,ระบบการหายใจของกรองอากาศยกสูง,กำลังเครื่องยนต์ในการลุยตามมาตรฐานเครื่องยนต์ 125 ซีซี,ระบบกันสะเทือน,ระบบเบรก Front-ABS,อัตราเร่งในเกียร์ต่ำและความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงสุด แต่สิ่งสำคัญที่อยากนำเสนอคือ ความรู้สึกและไลฟ์สไตล์ของผู้ขับขี่ที่หลากหลาย เมื่อทีมงานสายลุยพร้อม เราจึงเริ่มต้นออกเดินทาง โดยตั้งใจออกนอกเส้นทางตามคอนเซปต์เพื่อเค้นสมรรถนะกันแบบจะ ๆ 2 วันเต็มกับ 2 คู่หู CT 125 ในแบบขี่คนละคันมันส์กว่า!!

Part 1 บอกได้คำเดียวว่า “ลุย” …นานแค่ไหนที่ไม่ได้…ออกนอกเส้นทางเดิมๆ

เรามีนักทดสอบรับเชิญเจ้าถิ่นที่จะมาสร้างบทสรุปสมรรถนะของ New CT 125 พร้อมกันกับผมในวันนี้ นั่นคือโอภาส ป่าราบเอ็นดูโร่ หนุ่มดีกรีแชมป์ประเทศไทยสาย Enduro ผู้ชำนาญการขับขี่ Off road ซึ่งทักษะของเขานั้นตรงกับจุดหมายของเราในวันนี้แบบสุด ๆ เพราะเป็นการ ลุยป่า..ฝ่าดง (ข้าวโพด)…โหดบนเส้นทางเก่าและลุยน้ำดันกระจาย  วันแรกของการลุยเราใช้เส้นทาง ปากช่อง-แม่พริก-ลำตะคอง เป็นเส้นทางเก่าที่ไม่ค่อยมีคนใช้งาน ด้านข้างของถนนยังมีรางรถไฟเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทอดตัวผ่านทุ่งกว้างทะลุผ่านไปยังลำตะคองและหายไปในเวิ้งน้ำลึกสุดตา แต่ก่อนที่จะผ่านเข้าไปยังสถานที่นั้นเราต้องฝ่าดงข้าวโพดที่ท่วมหัวจนมองไม่เห็นทาง เรียกว่าหากไม่มีความชำนาญอาจหาทางออกไม่เจอจนอยู่หลังฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผลก็เป็นได้ แต่ผมก็ไม่หวั่นเพราะมีรถคู่ใจอย่าง Honda New CT 125 อยู่ในมือและบัดดี้ที่เชื่อถือได้อย่างโอภาส

พวกเราเดินทางออกจาก Garage ของโอภาสที่ปากช่องโดยมีรถเซอร์วิสและทีมงานตามมาติด ๆ โดยเริ่มทดสอบเดินทางกันบนถนนดำที่สามารถใช้รอบเครื่องยนต์สูงสุดในเกียร์ 4 แบบ เกียร์วน (Constant Mesh Gear) N-1-2-3-4-N ที่ใช้ระบบคลัตช์แบบผสมผสานคลัตช์แรงเหวี่ยงและชุดคลัตช์แผ่น (Centrifugal Clutch) + (Mutual Clutch) ที่พัฒนาจนสมบูรณ์และเรียกว่า คลัตช์อัตโนมัติ ซึ่งเครื่องยนต์ขนาด 125 ซีซี ตามคอนเซปท์นั้นออกแบบมาให้เป็นรถสายลุยซึ่งต้องบอกว่ามันเน้นแรงบิด กำลังงานรอบต้นมากกว่าความเร็วปลาย แต่รถก็สามารถทำความเร็วได้อย่างพอเพียงเมื่อรอบเครื่องยนต์พุ่งสูงสุดสู่เรดไลน์ที่ 6,800-7,000 รอบ/นาที กับแรงม้า 8.7 hp และแรงบิด 8.1 ฟุต-ปอนด์ ที่ 4,500 รอบ/นาที โดยปล่อยให้รอบเครื่องยนต์พาความเร็วไปถึง 115-120 กม./ชม. แบบไม่ได้ (หลับหูหลับตา) ลากรอบเครื่องยนต์จนตัด

แต่ที่น่าสังเกตและถือว่าเป็นจุดเด่นเลยคือแรงบิดที่มาเร็วสำหรับเครื่องยนต์ 125 ซีซี ที่ใช้สเตอร์หลังถึง 39 ฟัน ซึ่งจุดนี้เครื่องยนต์นั้นทำงานผสานกับระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI ที่โปรแกรมการจุดระเบิดเผาไหม้เชื้อเพลิง และอากาศจากกรองอากาศที่มีช่องทางอยู่สูงและค่อนข้างเล็กได้ลงตัว เราลงจากทางดำเพื่อมุ่งตรงสู่ทางรถไฟเก่าเส้นทางเริ่มทุรกันดาร กรวด,ถนนยางเสื่อมสภาพและเริ่มชื้นแฉะหลังฝนตก อัตราเร่งเครื่องยนต์รอบต่ำเกียร์ 1-2-3 สำหรับรอบกลาง เริ่มส่งผลอย่างต่อเนื่อง มันค่อนข้างสอดคล้องกับเส้นทางเป็นอย่างดี กำลังของเครื่องยนต์ยังคงทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนเพราะมันเป็นการระบายแบบอากาศ ซึ่งเราขับขี่กันด้วยรอบเครื่องยนต์ที่ลดต่ำลงเพื่อใช้ช่วงแรงบิดที่ 3,000-3,500 รอบ/นาที หลุมและรอยแยกของเส้นทาง รวมถึงต้นไม้หลากชนิดที่เรียงรายอยู่เบื้องล่างประกอบกับความชื้นที่เพิ่มขึ้นจากฝนตกและใกล้เวิ้งน้ำของลำตะคอง จนเรารู้สึกถึงความเย็น อัตราเร่งยังคงดีเยี่ยมเหมือนเดิมจากการประเมินผลของกล่อง ECU เพื่อการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ทำให้กำลังของเครื่องยนต์ลดลงเลย

พอถึงช่วงที่เพิ่มรอบเครื่องเพื่อส่งแรงบิดสูงสุดที่ 4,000-4,500 รอบ/นาทีเราทั้งคู่ก็จัดกันแบบเต็มข้อ จนเราหาทิศทางผ่านพื้นหญ้ากว้างใหญ่สุดสายตานุ่มกว่าบนถนนฝุ่นหลังฝนตกซึ่งมองหาทางแห้งไม่ได้ แถมยังต้องเผชิญกับโคลนและหลุมบ่อมากมาย ระบบกันสะเทือนทั้งหน้า-หลัง กลายเป็นเรื่องสำคัญที่เชื่อมต่อล้อหน้า 19”,หลัง 18” ผสานกับยาง IRC Dual purpose ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ระบบกันสะเทือนไม่เพิ่มภาระให้กับยางจนเกินเหตุแถมรับแรงและกระจายน้ำหนักจนเราสามารถจัดเต็มกันได้ ซึ่งต้องบอกว่ากันสะเทือนของ Showa ออกแบบและวางองศามาได้อย่างแม่นยำ  อีกจุดเด่นซึ่งผมมองว่าไม่น้อยหน้าในหลาย ๆ จุดสำคัญคือ เมื่อเราผ่านทุ่งหญ้าออกมาได้แล้วก็ต้องผ่านไร่ข้าวโพดที่ต้นของมันสูงท่วมหัวจนมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ด้านหน้านอกจากทางวิ่ง ในดงข้าวโพดนั้นเราเริ่มรู้สึกถึงอากาศร้อนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งการอยู่ในวงล้อมนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ล้อมรอบตัวเราเป็นจำนวนเกินปกติมาก แต่ที่สังเกตได้นั้นมันไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์หรือลดอัตราเร่งลงเลย อากาศชื้นและคาร์บอนไดออกไซด์ จึงไม่เป็นปัญหาต่อสมรรถนะเครื่องยนต์เลยแม้แต่น้อย

เราลุยตามเส้นทางที่ดูเหมือนจะยาวไกล จนทะลุออกมาที่สะพานขาดและผ่านแม่พลิกโดยไม่หลงเลยจากการนำทางของโอภาส…….เพราะเมื่อโผล่ออกมาจากดงหญ้าผมก็เห็นความสว่างจากพื้นน้ำของลำตะคองที่สะท้อนเงาน้ำอยู่ที่ปลายตา โอ่ เรามาถึงแล้ว…ทำให้ผมประทับใจกับโครงสร้างรวม,เครื่องยนต์ที่ไร้พันธะจากการดึงของไดสตาร์ทเพราะเครื่องยนต์ติดด้วยการหมุนของข้อเหวี่ยงโดยเริ่มต้นจากขดลวดของ Generator หรือเรียกว่าระบบ A.C.G.Starter เงียบ,ไม่กินกำลังในทุกย่านความเร็วรอบเครื่องยนต์

ที่นี่เราถึงจุดพีคสุด ไหนๆ เราก็มากับสายลุยตัวจริงเสียงจริงไม่ต้องรอช้ากันละครับ โอภาสจัดแจงขับขี่ตามเส้นทางถนนเก่าที่ทอดตัวยาวหายไปในเวิ้งน้ำลำตะคองเบื้องหน้าลึกเกือบมิดคันในระดับสูงยกเว้นกรองอากาศและปลายท่อ เราติดเครื่องยนต์และลุยน้ำอยู่นานมากกว่า 30 นาที วิ่งหลายรอบแบบไปเนิบๆ น้ำสูงท่วมเครื่องยนต์,หัวฉีด,เรือนลิ้นเร่ง Throttle body,ปลั๊กสายไฟต่างๆ แต่เครื่องยนต์ก็ยังทำงานปกติดีเหมือนเดิม กำลังไม่ตก ที่สำคัญเราเปิดตัววัดน้ำมันเครื่องหลังจากนั้นไม่พบการไหลซึมของน้ำเลยแม้แต่หยดเดียว จนผมต้องใช้คำว่า “มันมหัศจรรย์”มากอุปกรณ์สำคัญกันน้ำ 100% (Waterproof seal) สุดประทับใจ แต่ถ้าต้องการน้ำให้ท่วมมากกว่านี้ คงต้อง “เรือดำน้ำแล้วละพี่จ๋า”

Part2 ทำความเร็วบนถนนดำ, ลุยลำธารหิน, ดันขึ้นเนินสูงลาดชัน, ขึ้นเขาแค้มปิ้งสนุกสไตล์ Out Door

จากนั้นผมพร้อมทีมงานขับขี่เดินทางกันต่อ จุดหมายอยู่ที่ ไร่ SSB Park ยอดสูงสุดของเขายายเที่ยงสถานที่แค้มปิ้งของพวกเราในคืนนี้ All New CT125 พาเรามุ่งผ่านถนนดำแล้ววกขึ้นทางลาดชันของเส้นทางเขายายเที่ยง ถึงจุดหมายที่ไร่ในตอนเย็น พักรับประทานอาหารค่ำกันด้วยบรรยากาศกันเองพร้อมบทสนทนาความประทับใจของการทดสอบขับขี่เส้นทางด้านล่างในวันนี้กันด้วยความสนุกสนาน พรุ่งนี้เรามีนัดกับน้องๆ ฝ่ายทดสอบรับเชิญอีก 2 ท่านที่จะพาผมไปบุกป่าฝ่าดงหินสูงชันของเขายายเที่ยงพร้อมอาสาสมัคร “หน่วยล่าเป็ด” เสี่ยโป้ง ณ SSB ที่จัดเต็มสูบกับชุดทดสอบหน่วยจู่โจมพร้อมอาวุธปืนคู่ใจและ New CT125 พาหนะประจำกาย เรียกได้ว่า พร็อพมาเต็ม เติมสีสันของการรีวิวอย่างเกินร้อย

รุ่งเช้าผมพร้อมวัยรุ่นโอ๋และวัยรุ่นพี่ตุ้ย นักทดสอบรับเชิญของเราเริ่มออกขับขี่เดินทางกันแต่เช้า เริ่มต้นจากพวกเราใช้ความเร็วลงเนินในทางฝุ่นกันก่อน New CT 125 ยังคงเดินหน้าด้วยเครื่องยนต์ 125 PGM-FI ที่ให้แรงบิดดีเหมือนเดิม ระบบกันสะเทือนทำหน้าที่ให้รถนั้นเสถียรในความเร็วมากกว่า 4,500-5,000 รอบ/นาที บนทางฝุ่นกันสะเทือนซับแรงและกระจายอย่างหมดจดทีเดียวทำให้เราควบคุมความเร็วและเกียร์ที่เหมาะสมอย่างสบาย แถมด้วยระบบเบรกหน้า ABS ก็กดหนักๆได้ทันทีไม่ต้องกังวลกับการสะบัดหรือล้อล็อค ยิ่งทำให้เรามั่นใจมากๆ เมื่อพื้นดินแห้ง ยางทั้งหน้า-หลังยิ่งแสดงศักยภาพผสานกับกันสะเทือนได้ดีจนเราเหินในบางจุดตามต้องการได้โดยไม่มีอาการย้วยใดๆเมื่อรถทิ้งน้ำหนักลงพื้น หรือแม้กระทั่งเลี้ยวเร็วๆในช่วงหักมุม (รถมันเล็กและเบาด้วยนะ) ผมยังคงเป็นนักขี่สายหล่อที่ขี่ซอฟๆ ปล่อยให้นักทดสอบของเราจัดกันแบบเต็มที่ ท่ามกลางป่าเขาแบบนี้จะเหลือครับ พ่อกระหน่ำกันจนพอใจ New CT125 ก็ช่างเป็นใจจนต้องแซวกันเองว่า มันรถอะไรเนี่ย!! ขี่ดีทุกสภาวะ

จากนั้นเราดันกำลังขึ้นเนินสูงลาดชันด้วยเกียร์ 1-2 รอบเครื่องยนต์เริ่มจาก 2,500 -3,000 รอบ/นาทีและพบว่ากำลังของเครื่องยนต์ดี ดันไม่ตก เราเร่งรอบเครื่องยนต์ตามน้ำหนักของแรงดึงจากด้านล่างโดยไม่กระหน่ำให้ล้อหมุนฟรี มันขึ้นไปโดยไม่เสียบาล้านท์พร้อมกับเปลี่ยนเกียร์ 2 เมื่อใกล้ถึงปลายสูงสุดอย่างต่อเนื่องไม่มีเสียรอบ ไม่เสียแรงบิด ไม่ต้องกดดันเครื่องยนต์ใดๆ  เรามุ่งตรงสู่ลำธารหินที่พิสูจน์จังหวะของระบบคลัตช์, เกียร์,เครื่องยนต์รอบต่ำและระบบกันสะเทือนกันอีกครั้ง ยังคงใช้เกียร์ 1 ที่รอบเครื่อง 2,000-2,500 รอบ/นาที ช่วงผ่านหินนั้นบางครั้งเราต้องผ่านด้วยการยกล้อหน้า ดังนั้นระบบคลัตช์,รอบเครื่องยนต์และเกียร์ต้องแม่นยำ ซึ่งระบบคลัตช์ผสมผสานแบบแรงเหวี่ยงและแผ่นคลัตช์สามารถสั่งงานด้วยเท้าเหมือนกับคลัตช์มือ เพียงแค่ทำความเข้าใจเล็กน้อยซึ่งใครก็ทำได้ เมื่อล้อหน้าลอยข้ามหินก้อนใหญ่เราพบว่าน้ำหนักที่ตกลงไปที่โช้คหลังนั้นไม่ทำให้เสียการทรงตัว จะสังเกตเห็นว่ากันสะเทือนหลังวางองศาเข้าหาตัวผู้ขับขี่แบบ 45° ซึ่งเป็นการวางเข้าหาโดยไม่เน้นองศารับน้ำหนักผู้ซ้อนเพราะคอนเซปท์ของมันคือ “ขี่คนละคันมันส์กว่า” ตามนั้นเลยครับ และเมื่อล้อหน้าตกลงพื้นโช้คหน้าก็รับน้ำหนักได้ดี การมีระยะยุบตัวแบบ Long Stoke หรือ Long Travel มันซึมซับแรงได้ดีจริงซะยิ่งกว่าจริง

สำหรับการบาล้านท์ตัวในทางทุรกันดาร ต้องยอมรับว่าโครงสร้างที่ออกแบบมาเล็ก,เตี้ยและเบา ในท่ายืนผมจึงไม่ให้ความสำคัญมากนัก เพราะสำหรับคนตัวสูงกว่ารถมากอาจไม่สมดุลเท่าไหร่ คือน้ำหนักกว่า 80% ของร่างกายอยู่เหนือหัวเข่าขึ้นมา เฟรมออกแบบมาไม่มีถังน้ำมันส่งผลในด้านการหนีบตัวรถซึ่งความสูงจากพักเท้าถึงเบาะนั้นเตี้ยไปเล็กน้อย  เมื่อยืนขี่เราจึงต้องก้มตัวลงมามากหน่อย และรถมีน้ำหนักเบาจนลุยได้โดยไม่ต้องยืน ผมจึงเลือกที่จะนั่งมากกว่าเพราะมันได้สมดุลจนไม่มีอาการแกว่งเกิดขึ้นเลย

ก็คงต้องบอกอย่างนี้ครับว่า การที่ Honda CT 125 Trail ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกลายเป็นกระแสสุดฮิตของเหล่านักขี่สายลุย และผู้ใช้ ทั้งๆที่เป็นรถมีขนาดเล็ก สำหรับมุมมองของผมคิดว่า นอกจากความน่ารักของรถแล้วมันยังมีเสน่ห์ของตำนานที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรถอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ขี่เที่ยวก็ได้,ขี่ลุยก็ดี และพร้อมที่จะพาเราออกจากเส้นทางเดิมๆ ด้วยสมรรถนะที่เพียงพอกับความต้องการ ด้วยรูปลักษณ์ของมันแล้วผมว่าอีก 20 ปี มันก็ยังดูเด่น มีเสน่ห์และได้รับความนิยมไปตลอด สำหรับสมรรถนะที่ทีมเดอะแก๊งส์ของเราได้ผลัดเปลี่ยนกันทดสอบเป็นคู่ๆ แบบขับทีละคันมันกว่า พร้อมลุยไปได้ทุกที่ สร้างความประทับใจเต็มร้อยให้กับพวกเราอย่างมาก… แล้วคุณล่ะ พร้อมให้ All New CT 125 คันนี้มาพาไปยังเส้นทางของคุณ ที่ไม่เหมือนใครกันหรือยังครับ

ขอบคุณ – เอ.พี.ฮอนด้า ที่จัดรถทดสอบคู่ดูโอ่มาให้พวกเราครับ

  •  นักทดสอบรับเชิญของเราในทริปนี้
  • โอภาส ป่าราบเอ็นดูโร่ เจ้าถิ่นนำทางและผู้ทดสอบรับเชิญที่พร้อมลุย
  • วัยรุ่นพี่ตุ๋ย ผู้ทดสอบรับเชิญและเนวิกเกเตอร์
  • วัยรุ่นโอ๋  ผู้ทดสอบรับเชิญ
  • วัยรุ่นโป้ง SSB ผู้ทดสอบรับเชิญและเอื้อเฟื้อสถานที่
  • วัยรุ่นเฉาก๊วย ผู้กำกับทริปและสร้างสรรค์ภาพงามๆ
  • น้องๆ ร่วมทริปที่ขับขี่ไปเป็นกองเชียร์กัน
  • เดิร์ทช้อฟ ไทยแลนด์
  • แพนด้า ไรเดอร์

 

Related