TEST RIDE: Triumph Tiger Sport 660
หลังเปิดตัว Trident 660 ได้ไม่นาน Triumph Motorcycle ก็หันมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่ชื่นชอบการขับขี่แบบสบายๆ อยากพาคนรู้ใจพ่วงสัมภาระบิดขึ้นเหนือล่องใต้ ด้วยรถแฮนด์ตั้งหลังตรงที่มาในรูปลักษณ์สูงยาว เข่าดี สไตล์ Adventure… ใช่ครับ เรากำลังพูดถึง Triumph Tiger 660 ที่เน้นเรื่องความเอนกประสงค์ด้านการใช้งาน จากขนาดที่ไม่ใหญ่โต น้ำหนักเบา ให้พละกำลังและอัตราเร่งติดมือ คุมง่าย พร้อมออฟชั่นที่ให้มาแบบกำลังเหมาะ ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟ LED รอบคัน เรือนไมล์ TFT โหมดขับขี่ และ Traction control ซึ่งทั้งหมดมาในค่าตัวเพียง 359,000 บาท
แม้จะถูกจัดให้เป็นรถ Adventure ระดับ First Entry และอยู่ในตระกูล ‘เสือ’ ร่วมกับรถอย่าง Tiger 850 Sport , Tiger 900 และ 1200 แต่เราคงจะเรียก Tiger 660 Sport ว่าเป็น ‘แอดเวนเจอร์’ ได้ไม่ค่อยเต็มปากนัก เพราะตัวรถถูกออกแบบมาให้ใช้งานบนทางดำเป็นหลัก ส่วนทางฝุ่นคงเป็นแค่การขี่เอาฟีลลิ่งพอกรุบกริบเท่านั้น เนื่องจากยางติดรถเป็น On Road และใช้ล้ออัลลอยด์น้ำหนักเบา ไม่ใช่ซี่ลวด เอาจริง ๆ ถ้าเปลี่ยนไปใส่ยาง Dual Purpose หรือมีทักษะสักหน่อยก็คงพอลงฝุ่นได้ ตราบใดที่ทางไม่โหดมาก เพราะรถขี่ง่าย กำลังเหลือ แรงบิดมาดีแทบไม่รอรอบเลย ช่วงล่าง โครงสร้างเองก็มีความแข็งแรง รองรับการใส่กล่องข้างและแบกน้ำหนักผู้โดยสารได้สบายๆ
หัวใจสำคัญของเสือสปอร์ต
เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นบล็อกเดียวกับที่อยู่ใน Trident 660 ขุมพลังสามสูบเรียง 660 ซีซี DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ เกียร์ 6 สปีด ใช้มิติกระบอกสูบ x ช่วงชัก 74.0 x 51.1 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 11.95:1 ให้แรงม้าและแรงบิดสูงสุดเท่ากันคือ 81 PS (80 hp) ที่ 10,250 รอบ/นาที และแรงบิด 64 นิวตันเมตร ที่ 6,250 รอบ/นาที ซึ่งถูกวางมาในโครงสร้างที่เน้นให้เป็นรถที่บังคับง่าย, คล่องตัว, น้ำหนักเบา กำลังมาแบบนุ่มๆ ที่ไม่ว่าใครก็เอาอยู่ได้ไม่ยาก แต่สามารถรีดสมรรถนะออกมาได้เต็ม ๆ
สิ่งที่แตกต่างกันอยู่ในส่วนของตัวเฟรม Tubular steel perimeter ที่หลายคนคิดว่าใช้ตัวเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วของ Tiger 660 ได้รับการออกแบบใหม่ จนเรียกว่าแทบจะเป็นเฟรมใหม่ 100% เพื่อรองรับการขับขี่ใช้งานแบบทัวร์ริ่งแต่ให้อัตราเร่งแบบสปอร์ต (Sport Touring) จะเห็นว่าล้อหน้าของ Tiger 660 ถูกเขยิบเข้ามาใกล้เครื่องยนต์มากกว่าของ Trident 660 ที่ให้องศาคอมา Rake 24.6° ความลาดเอียงกันสะเทือนหน้า Trail 107 มม. ส่วน Tiger 660 องศาคอ Rake 23.1° ความลาดเอียงกันสะเทือนหน้า Trail 97.1 มม. ห่างกัน1.5° เท่ากับเกือบ 10 มม. ทำให้เฟรมใหม่ของ Tiger 660 ตั้งขึ้น ส่งผลให้เลี้ยวง่าย, เลี้ยวเบา, สวิงซ้าย-ขวาได้เร็วและเลี้ยวในมุมเลี้ยวแคบๆ จนดันสต๊อปเปอร์ได้เลย
ถัดมาเฟรมตัวกลางนั้นแหงนขึ้นเพื่อรับกับองศาคอและการวางถังน้ำมันใหม่ เชื่อมโยงด้วยซับเฟรมสูงขึ้นเพื่อเปิดทางให้ระบบกันสะเทือนหลังทำงานด้วยระยะยุบตัวที่มากขึ้นได้อย่างเต็มที่ พร้อมรับสัดส่วนความยาวของน้ำหนักที่แชร์มาจากด้านหน้าเมื่อมีผู้ซ้อนท้าย กระเป๋าข้างและความยาวของสวิงอาร์มที่ยาวขึ้น 17 มม. (มีผลต่อระบบกันสะเทือนและมุมเลี้ยว มาก ๆ ทั้งหน้า-หลัง) เมื่อระยะองศาคอแคบลงก็ต้องเพิ่มระยะฐานล้อให้ยาวขึ้นเพื่อให้เกิดความเสถียร ที่เหมือนกันคือจุดในการยึดเครื่องยนต์ (Engine mounting) และองศาการวางเครื่อง ถึงความสูงเบาะจะเพิ่มขึ้นอีก 30 มม. เป็น 835 มม. เมื่อเทียบกับ Trident แต่เท้าทั้งสองข้างก็ยังแตะพื้นได้ถนัด เพราะออกแบบให้ลำตัวตกจุดศูนย์ถ่วงเตี้ย, เบาะคอดไม่สูง กำหนดให้ค่า CG รวมของรถกับผู้ขับขี่ต่ำ ส่งผลให้รถนั้นไม่แกว่งในทุกเส้นทางของการขับขี่
Triumph Triple Engine
เครื่องยนต์ 3 สูบแบบ Inline-Three ของ Triumph นำคุณสมบัติพิเศษของเครื่อง Parallel twin ที่อยู่ใน Bonneville, Thruxton และ Scrambler มารวมเข้ากับข้อดีของเครื่องสี่สูบเรียง ซึ่งแตกต่างจากเครื่องสามสูบทั่วไปที่ขึ้นเร็ว หมดเร็ว ตันในปลายเกียร์และมักตัดกำลังงานทันทีพอถึงย่านแรงบิดสูงสุด เพราะเครื่อง Triple Engine นำกำลังในรอบต้น-กลางที่ดี ของเครื่อง Twin มารวมเข้ากับความไหลปลายในช่วง Top-end ของเครื่องสี่สูบเรียง จึงให้การตอบสนองที่ติดมือในทุกย่านของรอบ สมรรถนะเหล่านี้ถูกพิสูจน์ให้เห็นกันในเวทีความเร็วระดับโลกมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่การเป็นแชมป์ Isle of Man TT 5 สมัยติดในปี 1968 มาจนถึง โมโตทูในวันนี้ที่ภายใต้แฟริ่งของรถหลากแบรนด์หลายยี่ห้อ คือเครื่องยนต์ 765 ซีซี ของ Street Triple RS ของ Triumph
สิ่งที่ทำให้เครื่อง 660 ซีซี บล็อกนี้มีความโดดเด่นคงหนีไม่พ้นฟีลลิ่งในการส่งกำลังที่มาแบบนุ่มมาก ๆ แต่กลับมีความติดมือฉับไว เพราะ 90% ของ Peak Toque (แรงบิดสูงสุด) มีมาให้ใช้ในทุกย่านและทุกเกียร์ เพลาข้อเหวี่ยง, ลูกสูบ หรือระบบคลัตช์ โปรไฟล์แคมชาร์ฟเองก็ถูกปรับใหม่ รวมถึงระบบไอดีไอเสียยังได้รับการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย ผลลัพธ์ที่ได้คือเครื่องยนต์ที่เอนจิ้นเบรกน้อย มีกำลังแรงบิดดีมาก รอบมาเร็ว จากกระบอกสูบขนาดใหญ่ 74 มม. ช่วงชักสั้นขนาด 51.1 มม. (Big bore x short stoke) ซึ่งนอกจากจะให้สุ่มเสียงที่เป็นเอกลักษณ์แล้วยังทำให้รถนั้นเร่งง่าย ,คุมง่าย, มีอัตราเร่งในทุกช่วงความเร็ว และขี่ไม่เหนื่อยในทุกเส้นทาง
ข้อดีของ Triumph Triple engine คือ คุณสามารถเร่งเครื่องออกไปตามต้องการได้เลยในขณะที่ใช้เกียร์สูงและรอบเครื่องต่ำจาก 2,000 รอบ/นาที หรือในขณะรถกำลังเอียงในโค้งก็สามารถกลับมาเดินคันเร่งได้เร็วเพราะการส่งกำลังมีความนุ่มนวลมาก นอกจากเร่งรอบง่ายแล้ว การหมุนของข้อเหวี่ยงยังช่วยสร้างบาลานซ์ให้กับล้อหลัง พร้อมกดน้ำหนักของกำลังเครื่องยนต์เพิ่มการยึดเกาะถนนไปในตัว รอบเครื่องไม่ปั่นจี๋ จนเกินการควบคุม และเครื่องยนต์ไม่รอรอบในทุกย่านกำลังงานจากเกียร์แต่ละเกียร์ที่ใช้
แน่นอนมันอาจมีรอบเครื่องยนต์สูงสุดต่ำกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป เพราะการออกแบบต้องการให้รถนั้นขี่ง่าย, เร่งง่ายตามต้องการตั้งแต่รอบต่ำ ด้วยพาวเวอร์แบนด์ที่แคบ แรงบิดต้นดีเร่งแล้วมาเลยไม่รอรอบ จริง ๆ จะทำรอบเครื่องให้สูงเหมือนยี่ห้ออื่นก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์ Triumph street triple 765 ในโมโตทู รอบเครื่องยนต์สูงสุดทะลุไปที่ 14,000-16,000 รอบ/นาที แต่กำลังงานรอบต่ำที่ต้องคอยเลี้ยงรอบเครื่องก็จะเขยิบไปอยู่แถว ๆ 9,500-10,000 รอบ/นาที ด้วย กับความเร็วที่ทะลุไปถึง 250-300 กม./ชม. ซึ่งหากปรับมาใช้กับรถโปรดักชั่นไลน์อัพ กว่าจะออกตัวได้จากเกียร์ 1 คลัตช์คงพังไปหลายชุดสำหรับผู้ใช้ทั่วไป
รูปลักษณ์ และสมรรถนะ Triumph Tiger 660
สัมผัสแรกที่เห็นคงต้องบอกว่า Tiger 660 เน้นความเป็นสปอร์ตด้วยความคม, เพรียว และเน้นลดแรงเสียดทานของอากาศจากครึ่งท่อนบน มองจากด้านหน้าเราจะเห็นว่าชุดพลาสติกค่อนข้างแหลมดูแล้วคล้ายกับแฟริ่งของรถโมโตทูที่มีปีกกว้างออกด้านข้างเพื่อให้อากาศผ่านตัวผู้ขับขี่ ส่วนด้านล่างเน้นให้อากาศผ่านเพื่อระบายความร้อนออกจากตัวเครื่องยนต์ได้สะดวกรวดเร็ว ด้านหน้ายกสูงอากาศเข้าตรงสู่หม้อน้ำอย่างเปิดเผย พร้อมระบบไฟส่องสว่างที่เข้ารูปสามเหลี่ยม
ทางลาดทางชันไม่ใช่ปัญหา
ถือเป็นข้อดีที่ด้านหน้ายกสูงกว่าด้านหลังเพราะเป็นรถสไตล์ Touring โช้คหน้า Showa SFF หัวกลับจึงมีช่วงยุบเยอะ (ระยะ Travel 150 มม.) ห้อยล้อหน้าขอบ 17 พร้อมบังโคลนดีไซน์เป็นร่องดันให้อากาศผ่านขึ้นด้านบนมากกว่ากดลงด้านล่าง ระบบเบรกคาลิปเปอร์แบบ Floating จาก Nissin และจานดิสก์เบรกคู่ขนาด 310 มม. แฮนด์บาร์ยกสูงหลังตรง ก้านเบรกก้านคลัตช์ปรับได้ ก้านคลัตช์ปรับตั้งด้วยน็อตปรับระยะ ส่วนก้านเบรกปรับตั้ง 6 ระดับแบบแมนนวล เรือนไมล์ TFT เชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์และสัญญาณทั้งหมดผ่านทางหน้าจอ สวิตช์ปรับ Riding mode และฟังก์ชั่นต่าง ๆ อยู่บริเวณฝั่งซ้าย ส่วนฝั่งขวาเป็นสวิตช์สตาร์ท สัญญาณไฟฉุกเฉิน ฯลฯ ตามาตรฐาน ระบบคันเร่งเป็นไฟฟ้า Ride-by-wire ถังน้ำมันยกสูงขนาด 17.2 ลิตร แบบ Touring หลังตรง เบาะสองตอนยกระดับด้านท้าย สวิงอาร์มหลังพร้อมกันสะเทือน Showa Monoshock ปรับค่าสปริงด้วยรีโหมดสายแบบ Hydraulic มีระยะยุบ 150 มม. วางนอน 45° พร้อมด้วยล้อหลังขนาด 180/55-17 เบรกหลังเป็น Nissin แบบ Slide สูบเดี่ยว
กดสวิตช์รถสตาร์ทติดง่าย แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือเสียงที่มาแบบเร้าใจนัมเบอร์วัน ส่งตรงออกจากท่อไอเสีย 3-1 (ในเว็ปไซต์ไทรอัมพ์เขามีให้ลองฟังเสียงกันด้วยลองไปกดดู) ถ้าลองตั้งใจฟังดี ๆ เสียงมันบ่งบอกว่าหายไป 1 สูบจริงๆ นะเอ้า ซึ่งเอกลักษณ์แบบนี้มีให้ฟังอยู่ไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น เครื่องตัวนี้ใช้ระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดสูบละ 2 ตัว คุมรอบต่ำ และรอบสูง หลังติดเครื่องโดยรอบเดินเบาอยู่ประมาณ 1,700 รอบ/นาที ลองตวัดคันเร่งเบา ๆ ไปที่ 2,500-3,000 รอบเครื่องบนมาตรดิจิตอลเดินเร็วทีเดียว แต่ขึ้นแบบนุ่ม ๆ เสียงเพราะมาก และต่างจากเสียงเครื่องแบบสี่สูบเรียงที่หวานเจี๊ยบในรอบสูง ๆ
เสือซิ่ง เกาะโค้งเร่งง่าย หน้าเบาเลี้ยวดี ขี่ไม่เหนื่อย
การวางเครื่องยนต์ของ Tiger 660 เอียงไปด้านหน้า 70° และยกชุดคลัตช์ ชุดเกียร์สูงขึ้นกว่าปกติทำให้การรับกำลังของเครื่องยนต์ที่ส่งมาจากเฟือง Primary gear ที่ข้อเหวี่ยงเบาขึ้น, เสียงเงียบ, มาเร็ว แถมอ่างเก็บน้ำมันเครื่องก็มีพื้นที่มากฉีดน้ำมันสู่ระบบเกียร์-ระบบคลัตช์ และชิ้นส่วนหมุนวนในเครื่องยนต์ได้เร็วยิ่งขึ้น แกนกดคลัตช์จึงต้องอยู่ในจุดล่างเพื่อความเหมาะสมลงตัว อย่างที่บอกในตอนต้นเครื่องยนต์บล็อกนี้นอกจากให้อัตราเร่งดีแล้ว เมื่อไหร่ที่ยกคันเร่งเข้าโค้ง ในจังหวะก่อนที่จะกลับมาเร่งเครื่องยนต์อีกครั้ง ข้อเหวี่ยงจะหมุนรอบส่งกำลังลงสู่ล้อหลังโดยมีจังหวะให้ยางเกาะได้เต็มดอกเพื่อเพิ่มการยึดเกาะถนน รถจึงเอียงโค้งในความเร็วได้โดยไม่ก่อให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางดันออกด้านนอก (Centrifugal force) และแรงสู่ศูนย์กลางดึงเข้าด้านใน (Centripetal force) ในความเร็วต่ำ Traction control ถึงให้มาแบบเปิด/ปิดได้ แทบไม่ต้องกังวล
บีบคลัตช์เข้าเกียร์ 1 ระบบคลัตช์ของ Triumph ดีมาตลอดอยู่แล้ว Slipper & Assist clutch ใน Tiger 660 ตัวนี้ก็เช่นกัน ยังคงนิ่มเข้าง่ายใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวก็เกี่ยวให้คลัตช์ตัดกำลังงานได้เลย แผ่นคลัตช์เกาะจับส่งกำลังงานของเครื่องยนต์ไปยังเกียร์และล้อหลังได้เต็ม 100 ไม่มีเหลือทอน เกียร์แต่ละเกียร์รับกันดีเปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องบีบคลัตช์ขอแค่ให้รอบเครื่องถึงก็เข้าได้สบาย รถกำลังดีขี่ง่าย ถ้าใช้เกียร์สูงไม่เกินเกียร์ 3 แล้วขี่รอบเครื่องต่ำกว่า 2,000 รอบ/นาที พออยากกลับมาเร่งก็สามารถเร่งออกไปได้เลยโดยไม่ต้องลดเกียร์ต่ำเพื่อเรียกแรง แม้กระทั่งขี่ยาน ๆ ในเกียร์ 6 จาก 2,000 รอบ/นาที เมื่อนึกอยากเร่งก็เร่งออกไปได้เลยด้วยเช่นกัน
เป็นการขับขี่เพื่อแสดงถึงสมรรถนะของตัวรถ ถ่ายทำบนถนนเข้าพื้นที่ส่วนบุคคล ภายใต้การดูแลของทีมงาน
วิ่งมาในความเร็วแล้วปิดคันเร่งทันทีพร้อมรวบเกียร์ลงต่ำก็สามารถทำได้เลยไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเบิ้ลคันเร่งไล่กำลังอัดของเครื่องยนต์ด้วย แรงม้าสูงสุดมาที่ 10,250 รอบ/นาที ผมดันรอบจากเกียร์ 4 เปลี่ยนเกียร์ 5 ที่ 8,000-8,500 รอบ จากเกียร์ 5 ดันไปเปลี่ยนเกียร์ 6 ที่ 10,000 รอบ/นาที จากนั้นก็ยาวไปได้เลย 180-190 มีมาให้เห็นไม่ยาก มันบ่งบอกชัดเจนว่าเครื่อง Triple Engine นั้นมีความแตกต่าง ตั้งใจออกแบบมาเพื่อให้รถขี่ง่าย คุมง่ายในรอบต่ำ-รอบกลาง และไหลในปลายเกียร์ ไม่ว่าจะในโค้งแค๊บแคบ โค้งกว้างหรือทางตรงก็ตอบรับการเรียกอัตราเร่งได้ดีไม่มีปัญหา รอบต่ำเร่งง่าย เร่งดีในทุกเกียร์
ซึ่งมันทำงานผสานกับเฟรมใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อการขับขี่แบบ Sport touring โดยตรงได้ลงตัวดีมาก องศาคอ 23.1 ที่มีความลาดเอียงกันสะเทือนหน้า 97.1 มม. มันชัดเจนว่าวางมาให้รถเลี้ยวเบา หน้าไม่หนักในความเร็วต่ำและสวิงรถได้คล่องตัว แต่สิ่งที่ทำให้หน้าไม่ไถลในมุมเลี้ยวคือการชดเชยระยะฐานล้อจากด้านหลังที่ปรับให้ยาวขึ้น มันเลยเลี้ยวได้ดีโคตร ๆ แม้ทางในบางช่วงจะกำลังทำและเป็นหินคลุกอยู่ก็ตาม
ระบบกันสะเทือน ระบบเบรก
ขี่มาเพลิน ๆ เจอน้องควายขวางหน้าก็เบรกทันสบาย ๆ
ระบบกันสะเทือนที่ดีต้องรองรับกำลังของเครื่องยนต์, อัตราเร่งและการขับขี่ในเส้นทางที่หลากหลายได้ มันจึงเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งของรถในทุก Segment สำหรับ Tiger 660 โช้คหน้า Showa SFF ขนาดแกนโช้ค 41 มม. ที่ให้มาถึงจะปรับไม่ได้ แต่ค่ามาตรฐานที่เซ็ตมาจากโรงงานก็ยังสามารถรองรับการใช้งานในทุกสภาพถนนได้แบบเหลือเฟือ ถึงจะเร่งในมุมแคบแล้วเปิดหนัก ๆ ออกจากโค้งเลย หรือยกจนหน้าลอยสูง ลงมาหน้าก็ไม่สะบัด ไม่ยุบจนสุดสโตรก ส่วนโช้คหลังเมื่อล้อหน้าลอย น้ำหนักรวมตกไปกดล้อหลังอย่างเร็วในรอบเครื่องที่สูงกว่า 4,500 รอบ ก็ยังสามารถรับแรงกดทั้งหมดด้วยความหนืดแบบไม่เร่งรีบ และคืนตัวได้ดีทั้งในจังหวะเข้าและออกโค้งแบบไม่ย้วย/กระพือให้เสียการควบคุม
ระบบเบรกคาลิปเปอร์แบบ Floating จาก Nissin และจานดิสก์เบรกคู่ขนาด 310 มม. ทำงานร่วมกับปั๊มเบรกบนที่ให้แรงดันมากำลังดี สามารถหยุดได้ตามต้องการไม่ว่าจะช้าหรือมาเร็วขนาดไหน ช่วยให้กันสะเทือนหน้าค่อย ๆ ยุบตัวลงก่อนที่รถจะหยุดเล็กน้อย น้ำหนักทั้งหมดที่ส่งลงไปยังยางเลยย้อนกลับมาให้โช้คกระจายแรงได้ทั้งหมด ในขณะที่เบรกหลังก็ช่วยชะลอความเร็วได้ตามต้องการ ใช้คุมไลน์เลี้ยวในโค้งที่มีมุมแคบหรือเวลามาเร็วเกินไปก็ทำได้ดี นอกจากนี้ยังระบายความร้อนออกหมดจนไม่รู้สึกว่าเบรกหลังมีอาการเฟดให้เสียการทรงตัวเลยแม้แต่น้อย
Riding position
Tiger 660 ถูกออกแบบมาให้นั่งขี่ก็ได้ ยืนขี่ก็ดี แต่สำหรับผมการยืนขี่กับรถสไตล์นี้ดูจะเหมาะกว่านั่งขี่ (ในบางช่วง) แถมครั้งนี้เรายังมีกล่องข้างทรงเท่ห์ๆ ติดมาด้วย ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ เขาออกแบบให้ตัวกล่องไม่มีเหลี่ยมมุม ลู่ลมและอยู่แนบชิดกับตัวรถมากที่สุด ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานของอากาศจากด้านหน้าเวลาวิ่ง จริง ๆ การติดกล่องสำหรับรถประเภทนี้ช่วยสร้างบาลานซ์ได้ดี ถึงแม้จะไม่มีคนซ้อนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อใส่ของหรือสัมภาระมันต้องมีน้ำหนักเท่ากันทั้งสองด้าน มีกล่องอาจทำให้รถเอียงเข้าโค้งเร็วกว่าปกติเพราะในความเร็วอากาศที่เข้ามาจากมุมเลี้ยวด้านข้างจะกดรถลงเร็วขึ้น
การใส่กล่องแล้วยืนขี่ อากาศจากด้านหน้าที่เข้ามาปะทะซึ่งมีความแรง เพราะอยู่ด้านล่างต่ำกว่าชุด พลาสติกอาจทำให้รู้สึกว่ามีแรงต้านเวลาบังคับเล็กน้อย แต่มันจะช่วยประคองรถให้เกิดความนิ่งมากยิ่งขึ้น การสวิงซ้าย-ขวาอาจทำได้ช้าลง และหน้ารถมีน้ำหนักขึ้นอีกนิดหน่อย ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่คุ้นเคยในการขับขี่รถจักรยานยนต์แบบทัวร์ริ่งที่ติดปิ๊บอยู่แล้ว จุดสำคัญคือเมื่อใช้ความเร็วสูงอากาศที่ปะทะกระเป๋าจะไปกดให้กันสะเทือนรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้ามีคนซ้อน ยิ่งต้องปรับพรีโหลดเพิ่มขึ้น มากน้อยขึ้นอยู่กับข้อมือของแต่ละคนด้วยว่าใช้งานคันเร่งกันหนักมากน้อยแค่ไหน
สรุป
Triumph Tiger 660 ถูกออกแบบมาให้เป็นรถ Sport Touring ที่เน้นขับขี่บนถนนดำเป็นหลัก ในเรื่องของความอเนกประสงค์คงต้องบอกว่ารถคันนี้ทำได้หมด จะใช้ขับขี่ในทุก ๆ วันก็ทำได้สะดวก จากความเบา คล่องตัว เลี้ยวง่ายและเครื่องยนต์กำลังดี รถติดก็เอาขาลงแตะพื้นได้สบาย หรือวันหยุดยาวอยากเดินทางอยากออกทริปก็สามารถใส่กล่อง ซ้อนคนรู้ใจไปไหนไปกัน สิ่งที่ทำให้รถรุ่นนี้โดดเด่นคงหนีไม่พ้นเครื่อง Triple Engine ซึ่งนอกจากจะส่งกำลังได้นุ่มมาก ๆ แบบผู้ดีแล้ว ยังทำให้รถมีกำลังดีมากในรอบต่ำ-กลาง แถมปลายยังไหลสุด ๆ ทั้งยังเสริมในเรื่องของความเกาะถนนให้เรากลับมาเดินคันเร่งได้อย่างไร้กังวล จริง ๆ แล้วโครงสร้างพื้นฐานของตัวรถทั้งเฟรม กันสะเทือน ฯลฯ มีความแข็งแรงดีมาก เรียกว่ามันมีสัญชาติญาณของ “เสือ” ในตระกูล Tiger ซ่อนไว้ก็คงไม่ผิด สำหรับผมสมรรถนะของรถมันไปได้ ถ้าคุณต้องการขี่แบบ Light Off-Road ด้วยอยากให้รถดูเป็น Adventure มากขึ้น ก็หายาง Dual purpose มาเปลี่ยนซักคู่ หรือถ้าต้องการลุยทางฝุ่นหนักขึ้นกว่านั้นอีกนิดอาจจะเปลี่ยนไปใส่ยาง Mud สักคู่ให้รู้กันไป เอาเป็นว่าถ้าสนใจ ไปลองสัมผัส ลองขับขี่กันได้แล้ววันนี้ที่ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ Triumph ทั่วประเทศครับ