0

Champion of Hinckley ไทรอัมพ์ Rocket 3R ใหม่ รถจักรยานยนต์เครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก

ย้อนไปในปี 2004 ตอนไทรอัมพ์เปิดตัว Rocket lll เป็นครั้งแรก ผมเองมองว่าทำไมต้องทำออกมาใหญ่ขนาดนั้น เรียกว่าทั้งรู้สึกประหลาดใจและสงสัยว่ามันจะขี่เป็นอย่างไรก็คงไม่ผิด แต่หลังจากที่ได้ลองทดสอบเป็นระยะทางกว่า 230 กม. ในประเทศไทย ก็เข้าใจว่าเครื่องสามสูบพิกัด 2,294 ซีซี (ซึ่งทำให้มันกลายเป็นสองล้อที่มีพิกัดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ตอนนั้น) เมื่อรวมเข้ากับโครงสร้างที่มีความบึกบึน แข็งแรง และกำยำ คือ สิ่งที่สื่อให้เห็นถึงจินตนาการและแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบที่วิศวกรจาก ‘ฮิงค์ลีย์’ ต้องการให้รถรหัสนี้ออกมา ‘แตกต่าง’ ซึ่งมันก็ออกมาสำเร็จตามคาดเพราะรถในตระกูล Rocket lll ได้กลายเป็นจอมพลังที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไทรอัมพ์มาโดยตลอดและถูกพัฒนาต่อยอดจนออกมาเป็นรุ่น Classic, Tourer และ Roadster ตามลำดับ

ถ้าจะถามว่า ทำไมต้องมีเครื่องยนต์ใหญ่ขนาดนี้ ? หรือใหญ่ขนาดนี้ “พี่ไหวเหรอ”? ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นกันอย่างชัด ๆ เพราะ Honda เองก็มี Goldwing ที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ 1,832 ซีซี , Harley Davidson มีเครื่อง Milwaukee-Eight™ 107, 114 และ 117  (1,750/1,870และ 1,923 ซีซี) ซึ่งเป็นเครื่อง V-Twin 45° ที่นำมาติดตั้งในรถอย่าง SPORT GLIDE, FATBOY และ CVO™ LIMITED ฯลฯ หรือแม้กระทั่ง Yamaha Vmax ก็ใช้เครื่อง 1,700 ซีซี จะเห็นว่ารถพวกนี้มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่เบิ้มกันทั้งหมด ซึ่งล้วนมาจากผู้ใช้ที่ต้องการกำลังงานและความสะดวกสบายแบบขี่ไปเรื่อย ๆ จะวิ่งช้าก็ได้ วิ่งเร็วก็ดี มีทั้งเกียร์เดินหน้าและถอยหลัง แตกต่างกันแค่แต่ละค่ายจะเลือกใช้เครื่องยนต์ประเภทไหนแบบไหนก็เท่านั้น

เพราะท้ายที่สุดแล้วถึงบริษัทผู้ผลิตแต่ละเจ้าจะมีแนวคิดและมุมมองที่แตกต่าง แต่ทุกแบรนด์ก็สร้างรถจักรยานยนต์ขึ้นมาโดยอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน นั่นคือเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้ (ถ้าขายไม่ได้เขาคงไม่ทู่ซี้ทำออกมาหรอกจริงไหมครับ?) ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดีเพราะช่วยให้เราสามารถหารถที่มีขนาด กำลังและพิกัดต่างๆ ได้ตรงกับความต้องการของตนเองมากที่สุด ส่วน Rocket 3R 2020 ตัวนี้เห็นได้ชัดว่าไทรอัมพ์ต้องการให้มันออกมาเป็น World’s Strongest Man หรือชายที่แข็งแรงที่สุดในโลกมอเตอร์ไซค์!! ด้วยเครื่องยนต์สามสูบที่พวกเขาสั่งสมประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนานแต่มันจะทรงพลังซักแค่ไหน ขี่เป็นยังไง วันนี้เราฉก Rocket 3R มาจาก Triumph Rama5 เพื่อหาคำตอบ…

Meet the New Rocket

การออกแบบของ Rocket 3R ตัวใหม่นี้ ดูลงตัวและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยส่วนเว้าส่วนโค้งต่าง ๆ ที่ทางไทรอัพม์บรรจงปั้นมาให้มันดูสปอร์ตกลมกลืนกันในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ของถังน้ำมัน ช่วงท้ายที่แลดูสั้น บังโคลนหรือแม้กระทั่ง ชิวบังไมล์ด้านหน้า โดยยังคงเอกลักษณ์ของไฟหน้าคู่ดวงกลมเอาไว้ ซึ่งทำให้ Rocket 3R กลายเป็นรถในช่วงพิกัด 2,500 ซีซี (จริง ๆ คือ 2,458) ที่ดูทะมัดทะแมงและหล่อสมกับเป็นโรสเตอร์พิกัดใหญ่ ไหล่กว้าง น่าดึงดูด นอกจากองค์ประกอบที่มีความสมบูรณ์ลงตัวมากขึ้นแล้ว ทางไทรอัมพ์ยังทำการเติมระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเหลือผู้ขับขี่ต่าง ๆ เข้าไปเพื่อให้คุณสามารถควบคุมรถได้อย่างปลอดภัยและสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น สำหรับด้านการออกแบบ อย่างแรกที่ถือเป็นสิ่งสำคัญเลยคือการนำพิมพ์เขียวของเฟรมขึ้นมาออกแบบและปรับปรุงใหม่

เฟรมอลูมิเนียมใหม่แบบ All-new ที่ทำงานคู่กับสวิงอาร์มเดี่ยวจึงมีน้ำหนักเบาขึ้นกว่าของเก่าถึง 50% (ลดลง 44 กก.) ซึ่งพอลองคร่อมดูก็พบว่าผมสามารถกระเถิบตัวเข้าไปใกล้ถังน้ำมันได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ความกระชับของช่วงเบาะเมื่อเทียบกับตัว Rocket lll Roadster เก่าที่พอคร่อมแล้วก้นอยู่ห่างกับพนักพิงจนกลายเป็นการยื้อ หรือเข็นกับกำลังของเครื่องยนต์จนทำให้รู้สึกเหนื่อยกับการบังคับ แต่เบาะของ Rocket 3R ใหม่กลับมีความโอบกระชับทำให้ควบคุมได้ถนัดมากยิ่งขึ้น เท้าทั้งสองข้างก็แตะพื้นได้อย่างสบาย โดยท่านั่งบังคับให้ต้องก้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย แฮนด์ยังคงกว้างเหมือนเดิมแต่เตี้ยลงกว่ารุ่นที่ผ่านมานิดหน่อย ความกว้างของแฮนด์อาจทำให้ต้องกางแขน ข้อศอก และหัวไหล่เยอะกว่ารถทั่ว ๆ ไป แต่พอชินกับมันแล้วจะเห็นว่าการออกแบบลักษณะนี้มีประโยชน์เพราะทำให้เราคุมรถได้ถนัดขึ้นมาก เลี้ยวมุมแคบได้ง่ายขึ้นถึงแม้จะต้องใช้แขนหักแฮนด์มากหน่อยหรือถอยหลังพร้อมหักเลี้ยวเพื่อจอดก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น

เครื่องยนต์ 2,500 ซีซี ทรงพลัง เต็มเปี่ยมไปด้วยกำลังสู่ล้อหลัง

สวิตช์กุญแจเป็นแบบ Keyless เมื่อพกกุญแจไว้แล้วกดสวิตช์บริเวณแฮนด์ด้านขวามือ เรือนไมล์ดิจิตอล TFT ทรงกลมหน้าตากะทัดรัดก็ติดขึ้นมา พร้อมทำการเช็คสัญญาณ ตรงกลางเป็นวัดรอบเข็มดิจิตอล มาตรวัดความเร็วและเลขบอกเกียร์อยู่ฝั่งซ้าย ประกบด้วยจอยาวที่บอกน้ำมันเชื้อเพลิง โหมดขับขี่และฟังก์ชั่นอื่น ๆ ซ้าย/ขวา เครื่องยนต์สตาร์ทขึ้นพร้อมเสียงที่ดังนุ่มนวลออกจากท่อไอเสียแบบ Hydroformed exhaust headers สแตนเลส 3 ช่องทาง ที่วางมาได้อย่างสวยงาม คลัตช์น้ำมัน Hydraulic ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Torque Assist Hydraulic Clutch กำง่ายบีบได้นิ่มนวลเพียงแค่ใช้นิ้วเดียวซึ่งแตกต่างจากรุ่นที่ผ่านมามาก ผสานกับระบบเกียร์ใหม่ 6 สปีด (ก่อนหน้านี้มีแค่ 5 สปีด) ที่เข้าได้ลื่นดีไม่มีติดขัด โหมดขับขี่มีให้เลือกทั้ง Sport, Road และ Rain ซึ่งแต่ละโหมดจะมีการปรับแมพคันเร่งและระดับของระบบ Traction control ที่เป็นแบบ Lean angle sensitive หรือนำองศาการเอียงของรถเข้ามาคำนวณด้วยให้อัตโนมัติ สรุปว่า เกียร์เข้าง่าย คลัตช์นิ่ม เอียงรถได้เยอะมั่นใจ งั้นจะรออะไรละครับ!

หลายคนอาจนึกว่าเครื่องใหญ่ขนาดนี้คงมีความน่าเกรงขาม แต่จริงๆ แล้วมันถูกออกแบบมาให้เชื่องมือมาก ขุมพลังสามสูบเรียง 2,458 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ DOHC ที่ใช้เพลาข้อเหวี่ยงแบบหมุนสวนทางกับล้อหลัง (Counter rotating crankshaft) ซึ่งคล้ายๆกับเครื่องยนต์ของ Ducati V4 เครื่องยนต์บล็อกใหม่ตัวนี้เลือกใช้มิติกระบอกสูบ x ช่วงชัก 110.2 x 85.9 มม. ให้แรงม้าสูงสุด 165 hp ที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงถึง 221 นิวตันเมตร มาในรอบเครื่องยนต์เพียง 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนระบบส่งกำลังด้วยเพลากับพลังของเครื่องยนต์ที่ส่งกำลังออกมาจากลูกสูบที่มีขนาดใหญ่กว่า Superleggera V4, Goldwing หรือแม้กระทั่ง เครื่อง Milwaukee-Eight™ 117 ของ Harley ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว แน่นอนว่ามันต้องมีแรงบิดสูงที่สุดอีกด้วย มันทำงานด้วยระบบอย่างไรถึงขับเคลื่อนตามแนวตรงอย่างนี้ได้?

อันดับแรกเลย เราต้องนึกถึงระบบเกียร์ของรถยนต์ซึ่งมีเกียร์เชื่อมโยงจากข้อเหวี่ยง ซึ่งเครื่องยนต์บล็อกนี้ของ Triumph ก็วางตามแนวตรงจากข้อเหวี่ยงเหมือนกัน แต่เยื้องศูนย์ทำมุม 120° จากแครงค์เครื่องยนต์และลดน้ำหนักของเครื่องยนต์ไปได้ถึง 9 กก. โดยกำหนดให้ชุดเกียร์นั้นทำงานจากเฟือง Primary gear และ Secondary gear เป็นแบบเฟืองตรง (Spur gear) จากนั้นเกียร์ถัดไปจะเป็นเกียร์เฟืองเฉียง (Helical gear) จากนั้นคือกระปุกเกียร์ (Selector drum) โดยมีก้ามปูเกียร์ (Selector fork) วางไว้ด้านล่าง ส่วนระบบคลัตช์อยู่ด้านหน้าของชุดเกียร์ทั้งหมด เพลาขับต่อตรงจากแกนเฟืองเกียร์ ส่วนเรือนลิ้นเร่งหรือ Throttle body นั้นมีสามตัวโดยมีหัวฉีด 2 ตัว/สูบ ซึ่งรับการอัดอากาศจากด้านหน้าผ่านห้องกรองอากาศที่ออกแบบได้สวยจริง ๆ  ทั้งหมดนี้อยู่ด้านซ้ายของตัวรถ ถึงแม้เครื่องยนต์นั้นจะมีความจุกระบอกสูบมากที่สุดแต่ด้วยความฉลาดในการวางเลย์เอาท์จึงทำให้ขนาดของมันดูเล็กไปถนัดตาเลยทีเดียว

ผมเริ่มเคลื่อนตัวออกมาด้วยโหมด Road เมื่อเปิดคันเร่ง พละกำลังและทอร์คจากเครื่องสามสูบพิกัดใหญ่นั้นถูกส่งตรงมาอย่างรวดเร็วและถึงมือทันที แต่ทุกอย่างกลับมีความนิ่มนวลและไม่ได้รู้สึกน่ากลัวอะไรเลย การจ่ายน้ำมันมีความแม่นยำโดยตัวรถไม่มีอาการสะดุด กระตุก ในทุกย่านความเร็ว คือมันทรงพลังแต่สามารถเดินคันเร่งไปได้แบบนุ่ม ๆ ทุกอย่างไล่ระดับไปเนียน ๆ ราวกับเราเป็นดัมเบลที่ถูกนักกล้ามยกให้เคลื่อนไหวด้วยความเบามือก็ไม่ปาน เมื่อถึงช่วงที่ต้องการกระทุ้ง Rocket 3R ก็ให้อัตราเร่งที่รวดเร็ว พร้อมตัวเลขบนเรือนไมล์ที่เปลี่ยนเร็วจี๋เหมือนกำลังวิ่งหนีใครอยู่ แต่ทุกอย่างนั้นดูเชื่องมือและอ่อนหวาน (เหมือนตอนจีบแฟนใหม่ๆ) พละกำลังของมันสุภาพมากจนผมพยายามลองกดคันเร่งอย่างรวดเร็ว แต่ถึงอย่างนั้นทอร์คอันมหาศาลที่ถูกส่งลงล้อหลังก็ยังถูกระบบ TC คอยคุมไว้ไม่ให้มีการสไลด์หรือกำลังมารุนแรงเกินไปจนสูญเสียการยึดเกาะ ทุกอย่างจึงนุ่มเกินความคาดหมายและเบาเมื่อมันเคลื่อนตัว ทั้งยังมีความคล่องตัวเมื่อต้องการสวิงรถซ้าย-ขวา ไปตามโค้ง

แรก ๆ อาจดูเงอะ ๆ งะ ๆ บ้าง เพราะแฮนด์นั้นค่อนข้างกว้าง แต่ใช้เวลาไม่นานก็จะพบว่ามันควบคุมได้ดีเกินคาด รถเอียงเข้าโค้งได้ง่ายโดยไม่ต้องออกแรงบังคับมากมายอะไรเลย เมื่อเปลี่ยนไปใช้โหมด Sport คันเร่งนั้นตอบสนองได้คมขึ้นอย่างชัดเจน ติดมือและสปอร์ตยิ่งขึ้น ในจังหวะกระทุ้งคันเร่งหนัก ๆ ล้อหน้าพอมีลอยสวย ๆ ให้เห็นบ้าง แต่ TC ก็รีบเก็บกวาดให้ล้อกลับมาแตะพื้นอย่างรวดเร็ว บนทางตรงมันอาจไม่ได้เป็นรถที่ทำความเร็วได้สูงที่สุด เพราะมีม้าแค่ 165 hp เมื่อเทียบกับรถสปอร์ตรุ่นท็อป ๆ สมัยนี้ที่ให้ม้ามาเกิน 200 ตัว แต่ด้วยความทรงพลังของแรงบิดนี่เองที่ทำให้อัตราเร่งของ Rocket 3 R ให้ความรู้สึกถึงใจ และพาคุณทะยานไปถึงย่านความเร็วแตะ 170 กม./ชม. ในเกียร์ 4 ได้อย่างไม่ยากเย็น

จากรุ่นที่ผ่านมา ระบบกันสะเทือนนั้นเป็นจุดที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงและไม่เสถียรนักในความรู้สึกของผม เหตุผลคือ ระบบกันสะเทือนทุกยี่ห้อบนโลกใบนี้ที่สร้างมา และติดตั้งเข้าไปในรถจักรยานยนต์หลากหลายยี่ห้อนั้น ที่ใหญ่ที่สุดก็แค่ 1,800 ซีซี แต่กว่าจะลงตัวเรื่องค่าความแข็งสปริง,ความหนืดและค่าแรงดัน ก็ใช้เวลาเป็นทศวรรษ เช่นกัน Rocket lll กว่าจะเกิดความเสถียรได้ขนาดนี้ก็ผ่านข้อผิดพลาดมาอย่างโชกโชนถึงรุ่นที่ผ่านมาจะใช้โช้คหน้าหัวกลับแล้วก็ตาม แต่สำหรับ Rocket 3R ตัวนี้การนำระบบกันสะเทือนใหม่ของ Showa มาใช้มันเป็นอะไรที่ลงตัวมาก ๆ กับโช้คหน้าหัวกลับขนาดแกน 47 มม. ที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 4 มม. และสามารถปรับค่าได้ครบเต็มรูปแบบ ทำงานผสานกับโช้คหลังซับแทงค์ปรับพรีโหลดไฮดรอกลิคและค่าอื่น ๆ ได้ครบเช่นกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ของใหม่อะไร แต่สิ่งสำคัญคือมันรองรับน้ำหนักได้อย่างสมบูรณ์แบบและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

อีกจุดที่ทำให้กันสะเทือนชุดนี้เด่นมากยิ่งขึ้นคือ Showa นั้นออกแบบตัวยึดแกนโช้คเพลาล้อหน้าตัวล่างใหม่ ที่นอกจากจะเพิ่มความสวยงามแล้วยังเพิ่มสมรรถนะในการทำงานของตัวโช้ค จึงทำให้ Rocker 3R นอกจากจะเอียงเข้าโค้งได้ง่าย ยังมีความนิ่ง เสถียร เกาะถนน และไม่ส่งผลให้เป็นภาระของยางเกินความจำเป็นแบบที่ไม่น่าเชื่อว่ารถใหญ่ขนาดนี้จะทำได้ โดยรวมแล้ว กันสะเทือนเดิม ๆ อาจรู้สึกกระด้างไปบ้างเพราะต้องจัดการกับน้ำหนักรวมทั้งหมดเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ แต่เมื่อความเร็วที่ใช้เกิน 80 กม./ชม. ขึ้นไป ความกระด้างเล็กน้อยเมื่อแลกกับสมรรถนะการควบคุมที่แน่นหนึบขนาดนี้ ทำให้ผมมั่นใจและเอียงลดต่ำได้จนเซ็นเซอร์พักเท้าลงไปครูดพื้น

แน่นอน ด้วยความที่มันเป็นรถจักรยานยนต์ที่พิกัดใหญ่ที่สุดในโลก ระบบเบรกจึงจำเป็นต้องดีที่สุดด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงจุดนี้ Rocket 3R เลือกใช้คาลิปเปอร์ Brembo Stylema แบบสี่ลูกสูบเช่นเดียวกับรถสปอร์ตเรือธง พร้อมจานดิสก์คู่ขนาด 320 มม. ขณะที่คาลิปเปอร์หลังแบรนด์เดียวกันเป็นแบบสองลูกสูบและดิสก์เดี่ยวขนาด 300 มม. เบรกหน้านี่ไม่ต้องพูดถึงเพราะขึ้นชื่อว่า Stylema แน่นอนว่าต้องจับโหดเหมือนโกรธใครมา แต่ก็ไม่ได้ถึงกับทำให้หน้ารถปักจนเสียอาการ เพราะไล่น้ำหนักได้เสถียร คุมน้ำหนักเบรกได้คมและชะลอมวลทั้งหมดของรถที่วิ่งมาด้วยความเร็วได้อยู่แบบเหลือ ๆ ส่วนเบรกหลังก็มั่นใจหายห่วงเพราะจานเบรกนั้นใหญ่-กว้างถึง 300 มม.ให้ระยะการเกาะจับของคาลิปเปอร์มากที่สุดที่เคยมีมา ส่วนปั๊มเบรกตัวบนทั้งหน้า-หลัง ก็เป็นของ Brembo 19 x 20 หากเปรียบเทียบกับของสำหรับแข่งนี่จะเป็นแบบโลโก้ขาวก้านยาวนั่นเอง

ผมลุยไปบนถนนทั้งในเมือง นอกเมือง และโค้งต่าง ๆ มากมาย และพบว่ามันไม่ได้ขี่ยากในการจราจรหนาแน่นเท่าไหร่เลย แค่เพียงหาช่องทางที่ทำให้แฮนด์นั้นลอดผ่านกระจกมองข้างรถยนต์ไปได้ มันก็พร้อมที่จะไหลไปกับรถเล็ก ๆ ได้อย่างสบาย เพราะคุมรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ รถก็ไม่กระตุก แน่นอนเรื่องของความร้อนสะสมเราคงหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าแต่ละคนย่อมมีวิธีแก้ปัญหาตรงจุดนี้ตามแบบฉบับของตนเอง อย่างการดับเครื่องยนต์เมื่อติดไฟแดงนาน ๆ หรือเลือกใช้เส้นทางที่การจราจรมีความหนาแน่นน้อยเป็นต้น

เอาจริง ๆ ผมรู้สึกทึ่งกับวิวัฒนาการครั้งนี้ของ Rocket 3 R ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมรรถนะ รูปลักษณ์ และรายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่งานประกอบไปจนถึงการเก็บงาน ไทรอัมพ์สามารถเนรมิตให้รถที่เครื่องยนต์ใหญ่ขนาดนี้ ขี่ง่ายคุมง่าย ทั้งยังตอบสนองได้สุภาพนุ่มนวลและดีจนต้องเอ่ยปากชม ไม่ว่าจะเป็นทางชัน ขึ้นเขาขึ้นดอย หรือคดเคี้ยวซักแค่ไหน เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องการพละกำลัง ไม่ว่าจะอยู่ในเกียร์ไหนรอบไหน Rocket 3R ก็พร้อมที่จะ ‘แบก’ คุณไปบนร่างกายอันทรงพลังของมันอย่างสบายและเร่งออกโค้งได้อย่างนุ่มนวล ไม่มีสะดุด …ไปลองดูครับแล้วคุณจะพบว่าสำหรับรถคันนี้ มันไม่มีคำว่า น่ากลัวหรือรุนแรงเกินควบคุมเลย จะมีก็แต่คำว่า อัตราเร่ง ความทรงพลัง และความฟินส์ทุกครั้งที่ได้แตะคันเร่ง สำหรับผู้ที่สนใจไปสัมผัสตัวจริงและทดลองขับขี่กันก่อนได้นะครับ เชื่อว่าคุณจะรู้สึกทึ่งเหมือนผม

ขอบคุณ

  • คุณป๊อป (ดร.อรรถพงษ์ สกุลศรีประเสริฐ) บิ้กบอสของ Triumph พระราม 5 ที่ไว้วางใจให้พี่เบิร์ดได้นำ พี่ใหญ่คันนี้ไปเฆี่ยนสมใจ 1 วันเต็มๆ
  • Dirt shop Thailand
  • PANDA RIDER-Safety World

(WORD: SAEN BOONCHOEISAK / PICS BY PAIROJ JAMNANSIL)/Fast Bikes Thailand Magazine Issue 086

Related